การถอนฟัน(Teeth Extraction) จะทำในกรณีที่ฟันซี่นั้นผุ แตก ไม่สามารถบูรณะกลับมาใช้งาน หรือไม่มีประโยชน์ต่อการบดเคี้ยวอีกแล้ว นอกจากนี้การถอนฟันอาจทำเพื่อเปิดช่องว่างสำหรับการจัดฟันให้เรียงตัวได้อย่างสวยงาม
โดยทั่วไปการถอนฟันจะทำภายใต้การฉีดยาชาเฉพาะที่ เมื่อชาเต็มที่แล้ว ผู้ป่วยจะรู้สึกเหมือนมีแรงกดเพียงเล็กน้อย ไม่เจ็บปวด หลังถอนฟันให้กัดผ้าก็อซให้แน่น ประมาณ 1 ชม.เลือดก็จะหยุดไหล
โดยทั่วไปการถอนฟันธรรมดา จะไม่มีอาการบวม อาการเจ็บจะหายไปภายใน 1 วัน สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ และแผลถอนฟันจะหายภายใน 5-7 วัน ในช่วง 24 ชั่วโมงแรกหลังถอนฟัน ให้งดการบ้วนน้ำแรงๆ เพราะอาจะทำให้ลิ่มเลือดที่ปิดแผลหลุดออกและทำให้เกิดอาการปวดได้
หลังจากถอนฟันแล้วประมาณ 1 เดือน เมื่อแผลหายสนิท และสันเหงือกว่างยุบตัวลงเล็กน้อยจนคงที่แล้ว ควรใส่ฟันทดแทน หากไม่ใส่ฟันทดแทน ฟันข้างเคียงจะล้มเข้าสู่ช่องว่าง ฟันคู่สบจะยื่นยาวลงมาในช่องว่าง ทำให้เกิดปัญหาฟันห่าง ฟันล้มเอียงจนง่ายต่อการเกิดฟันผุ และโรคเหงือก หรืออาจเป็นสาเหตุของการเกิดการสบฟันผิดปกติทั้งระบบในระยะยาว และเมื่อฟันล้มเอียงเข้าสู่ช่องว่างและ ทำให้การใส่ฟันทนแพทนทำได้ยาก มีขึ้นตอนที่วุ่นวายมากขึ้น
สาเหตุที่ควรถอนฟัน
การถอนฟันถือเป็นทางเลือกสุดท้ายหลังจากทันตแพทย์พิจารณาหรือพยายามรักษาด้วยวิธีอื่นเพื่อเลี่ยงการถอนฟันแล้วแต่ไม่ได้ผล หรือเมื่อมีความจำเป็นต้องถอนฟัน ได้แก่
- ฟันผุทะลุโพรงประสาทฟันหรือฟันที่มีหนองปลายรากฟัน ไม่สามารถให้การรักษาทางทันตกรรมด้านอื่นๆเลย เช่น การรักษาคลองรากฟัน
- ฟันที่มีโรคปริทันต์รอบๆตัวฟันที่รุนแรงอาจจะร่วมกับการเป็นหนองปริทันต์
- ฟันเกินที่ขึ้นมาในลักษณะที่ไม่เป็นระเบียบ
- ฟันลักษณะอื่นๆ เช่น ฟันที่มีรูปร่างผิดปกติหรือฟันที่ขึ้นในตำแหน่งที่ผิดปกติที่ไม่ได้ใช้งาน
- ฟันคุด
- ฟันซ้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดฟัน สำหรับผู้ที่จัดฟันบางราย หากมีฟันซ้อนกันมากเกินไปในช่องปากจนไม่มีที่ให้ฟันขยับตัว ทันตแพทย์จัดฟันจึงต้องถอนฟันบางซี่ออกไป เพื่อให้ฟันสามารถขยับเรียงตัวอย่างสวยงามได้
- ฟันที่ต้องถอนเพื่อการใส่ฟัน
- ในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจ ไม่สามารถเก็บฟันไว้ได้โดยการรักษารากฟัน หรือไม่มีเวลามารับการรักษาระยะยาว จะเลือกวิธีถอนฟัน
ขั้นตอนการถอนฟัน
- เอ็กซ์เรย์ฟัน ให้เห็นถึงความยาว รูปร่างและตำแหน่งของฟันและกระดูกบริเวณรอบๆ ฟัน
- ซักประวัติ วัดความดัน
- ฉีดยาชาบริเวณรอบๆ ฟันที่จะถูกถอน
- ถอนฟัน
- อาจมีการเย็บปิดแผลในบางการรักษาขึ้นอยู่กับทันตแพทย์พิจารณา
การดูแลรักษาและคำแนะนำหลังการถอนฟัน
- กัดผ้าก็อซแน่นๆไว้ประมาน 1 ชั่วโมง มีเลือดหรือน้ำลายให้กลืน ห้ามดูดแผลหรือเลือด ห้ามบ้วนน้ำหรือน้ำลาย
- เมื่อครบ 1 ชั่วโมง ให้คายผ้าก็อซออก หากยังมีเลือดไหลอยู่ ให้เปลี่ยนอันใหม่กัด ก่อนเปลี่ยนให้ล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ยาชาจะมีฤทธิ์ 1-2 ชั่วโมง หากมีอาการปวดให้ทานยาตามที่ทันตแพทย์สั่ง
- งดสูบบุหรี่หรือทานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงแปรงฟันบริเวณแผล 1-2 วัน
- ห้ามเอานิ้วมือ ไม้จิ้มฟัน แคะเขี่ยบริเวณแผล และห้ามดูดแผลเล่น
- ในกรณีที่เป็นแผลผ่าตัดหรือแผลผ่าฟันคุดจะมีการเย็บแผลไว้ให้กลับมาตัดไหมภายหลังประมาณ5-7วัน
- ไม่ควรใช้หลอดดื่มน้ำ เพราะแรงดูดจะกระตุ้นให้ลิ่มเลือดที่แผลผ่าตัดหลุด ส่งผลให้เลือดไหลได้
- อย่าทำกิจกรรมที่ต้องออกกำลังหลังการถอนฟันเป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- ถ้ามีอาการบวม หรือรู้สึกอาการผิดปกติ ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจดูใหม่
- หลังจากถอนฟันแล้วประมาณ 1 เดือน เมื่อแผลหายสนิท และสันเหงือกว่างยุบตัวลงเล็กน้อยจนคงที่แล้ว ควรใส่ฟันทดแทน หากไม่ใส่ฟันทดแทน ฟันข้างเคียงจะล้มเข้าสู่ช่องว่าง ฟันคู่สบจะยื่นยาวลงมาในช่องว่าง ทำให้เกิดปัญหาฟันห่าง ฟันล้มเอียงจนง่ายต่อการเกิดฟันผุ และโรคเหงือก หรืออาจเป็นสาเหตุของการเกิดการสบฟันผิดปกติทั้งระบบในระยะยาว และเมื่อฟันล้มเอียงเข้าสู่ช่องว่างและ ทำให้การใส่ฟันทดแทนทำได้ยาก มีขึ้นตอนที่วุ่นวายมากขึ้น